Friday, November 21, 2014

บทที่ 5 สรุป

บทที่ 5    สรุป

มีหลักฐานกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ว่าข้อความในเอกสารเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบให้ศาลเห็นเป็นอื่นไปไม่ได้ เช่นจะนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกไม่ได้แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า
ก. เมื่อหาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ เพราะสูญหายหรือถูกทำลาย โดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93)
ข. เมื่อมีการอ้างและขอนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารนั้น
(1) ปลอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เช่นว่า ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญาไม่ใช่ของตนตัวเลขถูกเติม
(2) ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เช่นว่าคู่สัญญาในเอกสารนั้นเป็นตัวแทนของตน

(3) สัญญาหรือหนี้อันระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เช่นว่าเป็นนิติกรรมอำพราง, โมฆะ, โมฆียะ
(4) คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด เช่นว่า บุคคลในสัญญาไม่ใช่บุคคลที่คู่ความเข้าใจถึง
อย่างไรก็ดีหลักที่ว่าพยานเอกสารตัดพยานบุคคลนั้นก็พึงใช้ในเมื่อ มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เป็นหลักฐานเท่านั้น เช่น กู้ยืมเกิน 50 บาท, เช่าทรัพย์, ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคู่ความย่อมนำสืบหักล้างเปลี่ยนแปลงได้ เช่นสัญญาจ้างแรงงานจ้างทำของแม้จะทำเป็นหนังสือก็นำสืบหักล้างเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารได้ แต่จะมีน้ำหนักแค่ไหนเพียงไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นหน้าที่ศาลจะค้นหาความจริงในเอกสารนั้นว่าเป็นอย่างใด

คำว่า “มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง” นั้นหาได้หมายเฉพาะกรณีว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นไม่ หากแต่หมายถึงกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็จะฟ้องให้บังคับคดีไม่ได้ด้วย แม้หลักกฎหมายไม่ได้ห้ามเลย กฎหมายห้ามแต่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือเพิ่มเติมตัดทอนพยานเอกสารเท่านั้น และมาตรา 94 นั้น ห้ามทั้งผู้อ้างและผู้ที่มิได้อ้างด้วย

การสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารหรือเพิ่มเติม ตัดทอนที่ต้องห้ามตามมาตรา 94 นั้นส่วนมากเพ่งเล็งห้ามเฉพาะฝ่ายที่อ้างเอกสารนั้น แต่การสืบทำลายเอกสาร เช่น นำพยานบุคคลมาสืบว่าปลอมหรือไม่ถูกต้อง, ทำสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดนั้นเป็นสิทธิของคู่ความที่ถูกยันด้วยเอกสารนั้นจะนำสืบหรือจะพูดง่ายๆ ว่าการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้นไม่ห้าม แต่การสืบทั้งสองอย่างนี้ก็ใกล้กันมากต้องดูวัตถุปประสงค์แห่งการนำสืบว่าเพื่ออะไร หากเพื่อจะมิให้นำเอกสารนั้นมาใช้บังคับจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ดีก็เป็นการสืบหักล้างหรือทำลาย ซึ่งไม่ต้องห้าม แต่ถ้ายังต้องการให้เอกสารนั้นบังคับอยู่อีกแต่ให้บังคับผิดไปจากข้อความในเอกสารนั้นแล้วก็เป็นเรื่องการสืบแก้ไขเอกสารซึ่งต้องห้าม

กรณีกล่าวอ้างว่าคู่ความอีกฝ่ายตีความหมายผิด

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 นั้นถือเป็นสิทธิของคู่ความที่จะนำสืบได้ว่าคู่ความอีกฝ่ายตีความหมายผิด ข้อนี้ต้องระลึกด้วยว่าการตีความหมายในเอกสารนั้นตามปกติศาลไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นเพราะถ้อยคำภาษาไทยนั้นศาลรู้ได้เองดังศึกษามาแล้ว แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 ที่ว่าการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าที่ถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรนั้น ก็หมายความแต่เพียงว่าถ้าข้อความในเอกสารมีทางแปลไปได้แล้ว ก็พึงแปลให้เข้ากับเจตนาอันแท้จรงของคู่สัญญา เจตนาในที่นี้ก็คือเจตนาอันเห็นได้จากหนังสือนั่นเองมิได้หมายความว่าคู่สัญญาจะทำสัญญาไว้อย่างไรก็ช่าง ต้องสืบเจตนาได้เสมอ นอกจากนี้การสืบเจตนานอกไปจากที่จะคำนวณได้จาากตัวหนังสือนี้ยังมีห้ามไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ด้วย เพราะฉะนั้นหากข้อความในสัญญามีถ้อยคำชัดเจนแล้วก็จะนำสืบการตีความไม่ได้

การสืบเพื่อตีความกับสืบแก้ไขเอกสาร ความจริงใกล้เคียงกันมาก ที่ศาลยอมให้สืบได้ในบางกรณีก็มิใช่ประสงค์ให้ข้อความเป็นอย่างอื่น หากแต่ให้เป็นเรื่องนำสืบถึงข้อตกลงที่มีอยู่ขณะทำสัญญากันหรือภายหลังจากนั้นว่ายังมีข้อตกลงอยู่อีกนอกเหนือไปจากข้อความในเอกสารนั้นไม่ใช่ถึงกับขัดกันอย่างชัดเจน

ข้อควรระลึกอีกประการหนึ่งก็คือ การตีความนั้นใช้กรณีไม่ชัดเจนเท่านั้น ถ้าข้อความชัดอยู่แล้วก็ไม่ต้องตีความอะไรอีก ปัญหาจึงมาอยู่ที่ว่าชัด – ไม่ชัด ซึ่งมีหลักอยู่ว่า

1. การไม่ชัดเกิดจากการใช้ไวยากรณ์ผิดสืบไม่ได้ เพราะไวยากรณ์เป็นหลักของภาษา ศาลรู้เอง

2. ถ้อยคำในเอกสารไม่ได้ความหมายอะไรเลย แปลไปในทางไหนก็ไม่ได้ เช่นนี้ก็สืบไม่ได้ เพราะถ้ายอมให้สืบก็เท่ากับนำสืบข้อความขึ้นใหม่นั่นเอง

3. ความหมายที่ต้องการพิสูจน์ ต้องไม่ขัดกับหลักที่กฎหมายวางไว้

4. กรณีปกติธรรมดาของถ้อยคำที่มีอยู่แล้ว จะนำบุคคลมาสืบเพื่อตีความหมายในทางพิเศษไม่ได้เว้นแต่สงสัยว่าผู้ทำเอกสารจะไม่ต้องการใช้ถ้อยคำนั้นในความหมายตามปกติ

5. การกล่าวถึงบุคคลหรือทรัพย์โดยเรียกผิดจากความจริง เมื่อตามถ้อยคำและพฤติการณ์แสดงว่าอาจเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สืบได้ว่าหมายถึงบุคคลหรือทรัพย์ใด

6. ถ้อยคำกำกวม หรือหมายถึงบุคคลหรือทรัพย์ได้หลายอย่างก็นำสืบได้ว่าผู้ทำเอกสารมุ่งถึงบุคคลใดหรือทรัพย์ใด เช่นทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ “นายแดง” ไม่ระบุนามสกุลหรือนามบิดามารดาไว้ ก็นำสืบได้ว่าหมายถึงนายแดงคนไหน แม้จะดูเผินๆ เป็นการสืบเพิ่มเติมต้องห้ามก็ตาม

7. การตีความในเอกสารนั้น ศาลจะตีความเพิ่มข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้

8. ในเรื่องจารีตประเพณี ถ้อยคำในทางธุรกิจ, แพทย์, ธนาคาร, บัญชีการเก็บของในคลังสินค้า, การขนส่งทางทะเล ถ้ามีทางคิดไปได้ว่าผู้ทำเอกสารต้องการใช้ในความหมายพิเศษนั้น ก็ย่อมนำสืบได้ (เช่น “เฝ้าหอ” หมายถึง เจ้าบ่าวยังเข้าห้องเจ้าสารไม่ได้ตามจารีตประเพณีโบราณ, ทางธุรกิจ ก็เช่น “ฮั้ว” หมายถึงร่วมมือกันกดราคาประมูลหรือประกวดราคา)

อย่างไรก็ดี ต้องระลึกด้วยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นี้มิได้ห้ามการสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารโดยสิ้นเชิง คือไม่ห้ามหากจะนำสืบว่าเอกสารที่แสดงนั้นปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน สัญญาหรือหนี้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด และก็ห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบเท่านั้นไม่ห้ามการนำพยานเอกสารมาสืบหักล้างเพิ่มเติมและก็ห้ามเฉพาะการสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ไม่หมายถึงการสืบเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่ข้อสัญญาเว้นว่างไว้โดยลืมกรอกข้อความ

0 comments:

Post a Comment