Friday, November 21, 2014

บทที่ 4 พยานบุคคลหักล้างพยานเอกสาร


บทที่ 4
พยานบุคคลหักล้างพยานเอกสาร
        มีหลักเป็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ว่าข้อความในเอกสารเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบให้ศาลเห็นเป็นอื่นไปไม่ได้ เช่นจะนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกไม่ได้แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นดังนี้
ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
        มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
        (ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
        (ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
        แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
การสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสาร
        มาตรา 94 วรรคสองได้กำหนดข้อยกเว้นการนำพยานบุคคลมาสืบแทนเอกสารหรือเพิ่มเติม ตัดทอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร 4 กรณีดังนี้
        1. กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทำลาย  คือ ข้อความตรงที่ระบุว่าแต่บทบัญญัตมาตรานี้ไม่ใช่บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา 2 แห่งมาตรา 93 เพราะมาตรา  93(2) พูดถึงกรณีที่ต้นฉบับเอกสารนั้นสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือนำมาไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น ให้เอาพยานบุคคลมาสืบแทนได้ เพราะฉะนั้นในกรณีตามมาตรา 93 (2) จึงเป็นเรื่องของการสืบแทน ไม่ใช่สืบแก้ไข
        มาตรา 93 (2) บัญญัติว่าถ้าต้นฉบับไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาด้วยประการอื่นศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
        ปัญหาว่าการที่จะนำพยานบุคคลมาสืบแทนเอกสารได้จะต้องปรากฎด้วยหรือไม่ว่าไม่มีสำเนาเอกสารนั้นแล้ว ข้อความตรงที่ว่าให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบเป็นขั้นตอนกันหรือไม่ว่าถ้าต้นฉบับหายเอามาไม่ได้จะต้องเอาสำเนามาสืบก่อน ถ้าสำเนาไม่มีแล้วถึงจะสืบพยานบุคคลหรือว่าต้นฉบับไม่มีแล้วก็เอาพยานบุคคลมาสืบได้เลย ที่มีปัญหานี้ขึ้นก็เพราะว่ามีฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากรณีทำนองนี้นั้นเป็นกรณีที่พยานเอกสารอยู่ในฐานะที่ดีกว่าหรือน่าเชื่อถือว่าพยานบุคคล และเนื่องจากพยานเอกสารมีได้ 2 รูปแบบ คือ ต้นฉบับกับสำเนา ดังนั้นการที่จะเอาพยานบุคคลมาสืบได้จะต้องไม่มีเอกสารเหลืออยู่แล้วต้นฉบับทั้งสำเนาถึงจะเอาพยานบุคคลมาได้ แต่ถ้ายังมีสำเนาอยู่ก็น่าจะต้องเอาสำเนามาสืบก่อน แต่อีกฝ่ายหนึ่งแปลตามตัวบท เมื่อใช้คำว่าหรือก็ต้องแปลงว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น สำเนาเอกสารนั้นก็ไม่ได้มีฐานะดีกว่าพยานบุคคลแต่อย่างใด เพราะว่าโดยปกติก็รับฟังไม่ได้อยู่แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นตามฝ่ายหลังเพราะมาตรา 94 เองก็ไม่แยกแยะอะไรให้เห็นอย่างนั้น และมาตรา 94 วรรคสอง ในประโยคแรกยกเอามาตรา 93 (2) มาทั้งหมดโดยบัญญัติว่าถ้าเป็นกรณีที่เข้ามาตรา 93 (2) แล้วก็ไม่ให้เอาข้อห้ามตามวรรคหนึ่งมาใช้ เพราะฉะนั้นความหมายก็น่าจะเป็นว่าถ้าเป็นกรณีที่ต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทำลายโดยสาเหตุสุดวิสัยหรือนำมาไม่ได้ก็เอาพยานบุคคลมาสืบแทนได้
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลยเป็นหนังสือ และสัญญาเช่าอยู่ที่จำเลย จำเลยให้การว่าไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ สัญญาเช่าไม่มีอยู่ที่จำเลย ดังนี้ โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบว่ามีสัญญาเช่าเป็นหนังสือจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ ตามมาตรา 93 (2) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 5859 / 2530)
        2. นำสืบว่า เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การทำเอกสารปลอมนั้นคือการทำเอกสารให้คนทั้งหลายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่คนอื่นทำขึ้น ซึ่งอาจเป็นการทำเอกสารปลอมทั้งฉบับ หรือมีการเติม ตัดทอนหรือแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงหรือลงลายมือชื่อปลอม หรือกรอกข้อความในกระดาษที่มีลายมือชื่อผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลายมือชื่อ การนำสืบในเรื่องเหล่านี้ย่อมทำได้
        ตัวอย่างจำเลยกู้เงินโจทก์ 2,000บาท โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่มิได้กรอกข้อความมอบให้โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์นำเอกาเอกสารสัญญากู้นี้มาฟ้องแต่ปรากฎว่ามีการกรองข้อความจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 8,500 บาท ดังนี้จำเลยย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า เอกสารนี้เป็นเอกสารปลอม โจทก์อ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 286/2507, 1375,2508, 2163/2533)
        ตัวอย่าง การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า สัญญากู้เอกสาร จ. 1 เป็นเรื่องจำเลยซื้อที่ดินโจทก์และจำเลยค้างชำระค่าที่ดินแล้วทำสัญญากู้ให้สามีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วให้โจทก์ยึดไว้แทน โดยไม่มีการกรอกข้อความ และตกลงกันว่า เมื่อจำเลยชำระราคาที่ดินแล้ว โจทก์จะทำลายสัญญากู้ทิ้ง ต่อมาจำเลยชำระราคาที่ดินครบถ้วนและโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยแล้ว โจทก์กลับนำสัญญากู้ดังกล่าวไปกรอกข้อความและนำมาฟ้องจำเลย ดังนี้เป็นการนำสืบว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม และเป็นการนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อทำลายเอกสารทั้งฉบับ จึงไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4325/2532)
        3. นำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ การนำสืบตามข้อยกเว้นข้อนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสืบหักล้าง ซึ่งใกล้ชิดกับเรื่องการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาก ยากที่จะแยกความแตกต่างได้ชัดเจน หลักที่พอจะยึดถือได้ก็คือ ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์แห่งการนำสืบ ถ้าเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงว่า ข้อความในเอกสารนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นนิติกรรมหรือหนี้ที่เป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ หรือเสียเปล่าไปด้วยประการอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถบังคับตามนิติกรรมที่ปรากฏในเอกสาร ก็ถือว่าเป็นการสืบหักล้าง แต่ถ้าเป็นการสืบที่ยังคงรักษาความทรงอยู่ของข้อความในเอกสารให้มีสภาพบังคับได้ แต่ให้บังคับได้นอกเหนือหรือผิดแผก แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารแล้วก็เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องห้าม การสืบหักล้างนั้นปกติจะเป็นการสืบของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายที่อ้างเอกสาร
การสืบหักล้างในข้อนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังต่อไปนี้
        (1) ในสัญญากู้ยืม ซึ่งโดยปกติจะระบุจำนวนเงินที่กู้ยืมและระบุด้วยว่า ผู้กู้ได้รบเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา ถ้าลูกหนี้จะขอสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ที่ทำกันไว้นั้น ตนยังไม่ได้รับเงินไปเลย หรือได้รับเงินน้อยกว่าที่ปรากฏในสัญญา จะทำได้หรือไม่
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไป 400 บาท ดอกเบี้ยชั่งละบาทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้บังคับ จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่ไม่ได้รับเงิน 400 บาท ไปจากโจทก์ในวันทำสัญญา แต่ปรากฎว่าในสัญญากู้ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 รับเงินไปถูกต้องแล้วจำเลยทั้งสองขอสืบพยานบุคคลว่ายงไม่ได้รับเงิน
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทำสัญญาไว้ว่า ได้รับเงินไปตามสัญญาถูกต้องแล้วการที่จำเลยจะนำสืบเถียงว่าไม่มีการจ่ายเงิน ก็เท่ากับเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ซึ่งจำเลยทำไม่ได้ เว้นแต่จะเข้ามาตรา 94 วรรคท้ายที่ให้โอกาสจำเลยนำสืบได้ว่า สัญญากู้นั้นไม่สมบูรณ์แต่เรื่องนี้จำเลยให้การเฉยๆ ว่าไม่ได้รับเงินไปในวันทำสัญญา การไม่ได้รับเงินไปอาจเป็นเพราะเป็นกลฉ้อฉลบุคคลที่ 3 หรือรับเงินไปแต่วันก่อนแล้ว ฯลฯ ซึ่งมีทางคิดไปได้หลายทาง ฉะนั้น เมื่อจำเลยอ้างว่าไม่มีการจ่ายเงินจำเลยจะต้องให้เหตุผลโดยย่อพอเข้าใจว่า เหตุใดจึงไม่มีการจ่ายเงิน ซึ่งจะเป็นผลให้สัญญาไม่สมบูรณ์ แต่คดีนี้จำเลยพูดเฉยๆ ไม่ได้ให้เหตุผลเสียเลยจำเลยจึงสืบไม่ได้เพราะไม่มีอะไรจะสืบให้เห็นว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ โดยเพียงแต่กล่าวว่า ไม่ได้รับเงินไปในวันทำสัญญา ไม่หมายความเสมอไปว่าสัญญาจะไม่สมบูรณ์ เช่น อาจเป็นการซื้อขายกันทำเป็นสัญญากู้แทนการใช้เงินสดซึ่งไม่มีการจ่ายเงิน แต่สัญญาก็สมบูรณ์พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี (คำพิพากษาฎีกาที่ 246/2485)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามสัญญาท้ายฟ้อง ซึ่งมีความว่าจำเลยได้ยืมเงินโจทก์ไป จึงได้ทำหนังสือนี้ไว้ให้ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความเช่นนี้ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยได้รับเงินที่ยืมนั้นไปแล้ว ซึ่งจำเลยให้การรับแล้วว่าทำสัญญาให้โจทก์ไว้จริงที่ให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไป โจทก์หลอกลวงให้ทำเนื่องจากโจทก์ฝากเครื่องอะไหล่รถยนต์ให้จำเลยขายนั้น จำเลยหาได้ยกเหตุผลขึ้นอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้ยืมหรือหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ ดังนี้ จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลไม่ได้ ต้องห้ามมาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 507/2500)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ แต่ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วเอามารวมเป็นต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยนั้นย่อมเป็นโมฆะทั้งหมด มิใช่เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกิน และข้อต่อสู้ที่ว่าตามสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ เช่นนี้ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1452/2511)
        ตัวอย่าง จำเลยที่ 3 ต้องการเงิน 30,000 บาท เพื่อไปชำระหนี้แก่ จ. จึงให้จำเลยที่ 1- 2 ทำสัญญาขายโรงเรือนพิพาทให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1- 2 จะซื้อคืนได้ภายใน 5 เดือน เท่าราคาขายพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ว่า ถ้าครบ 5 เดือน จำเลยที่ 1 – 2 ไม่ยอมออกจากโรงเรือน และไม่อาจหาเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยมาซื้อโรงเรือนได้ จำเลยที่ 3 ยอมชดใช้แทน พอครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินมาชำระและไม่ยอมออกจากโรงเรือน โจทก์จึงมาฟ้องบังคับชำระหนี้ 30,000 บาท จำเลยให้การว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพราง และมิได้จดทะเบียนจึงเป็นโมฆะ และหากจำเลยจะต้องรับผิดจำเลยก็ควรรับผิดเพียง 20,000 บาท
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีมิใช่นิติกรรมอำพราง แต่สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียน อย่างไรก็ดี พฤติการณ์ของคู่กรณีแสดงว่า คู่สัญญามิได้มุ่งประสงค์จะได้ตัวเรือนเป็นสำคัญ หากผู้ขายไม่ยอมส่งมอบโรงเรือนคืนผู้ซื้อ ผู้ขายก็ต้องชำระเงินที่รับไปคืนผู้ซื้อพร้อมดอกเบี้ย โดยมีจำเลยที่ 3 ค้ำประกัน สัญญาพิพาทจึงเข้าแบบเป็นนิติกรรมกู้ยืมเงินอีกอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136 โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนได้ ส่วนที่จำเลยควรรับผิดเพียง 20,000 บาท นั้นเห็นว่าข้อนี้โจทก์นำสืบได้ว่า ที่ในสัญญาลงจำนวนเงิน 30,000 บาท ก็โดยโจทก์เอาหนี้ 10,000 บาท ที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์รวมเข้าไปด้วย ยิ่งกว่านั้น เอกสารสัญญาระบุชัดเจนว่า จำเลยรับเงิน 30,000 บาทไปจากโจทก์ จำเลยจะนำสืบว่าความจริงรับเงินไป 20,000 บาท ผิดแผกไปจากที่ปรากฏในเอกสารย่อมไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร ต้องห้ามตามมาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 108/2518)
        ตัวอย่าง ทำให้การจำเลยว่า ลงชื่อในสัญญากู้โดยไม่ทราบจำนวนเงินที่โจทก์กรอกลงเกินจำนวน 5,000 บาท ที่เป็นหนี้กันจริง เป็นการต่อสู้ว่าการกู้และการค้ำประกันไม่สมบูรณ์แม้ในสัญญากู้ระบุว่ารับเงินไป 13,500 บาท จำเลยก็นำสืบหักล้างเอกสารได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2321/2518)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามจำนวนในสัญญากู้ 3,000 บาท จำเลยให้การว่ากู้ไปเพียง 300 บาท แต่โจทก์ตกลงว่า ถ้าจำเลยต้องการเงินเมื่อใดให้มาเอาจนครบจำนวนเงิน 3,000 บาท ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์ส่งมอบเงินให้จำเลยไปครบตามสัญญาจำเลยนำสืบได้ว่ารับเงินจากโจทก์ไปแล้วเท่าใด ไม่ใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร (คำพิพากษาฎีกาที่ 2346/2519)
        ตัวอย่าง หนังสือสัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยได้รับเงินกู้ไปแล้วในวันทำสัญญา จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้รับเงินกู้ เพราะโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของภริยาจำเลยกับจำเลยได้ตกลงกันว่าโจทก์จะจัดการฌาปนกิจศพภริยาจำเลย และจำเลยจะนำเงินซึ่งมีผู้มาช่วยงานศพมาคืนให้โจทก์โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้เพื่อป้องกันมิให้จำเลยอ้างสิทธิในเงินที่ผู้มาช่วยและโจทก์ได้รับเงินที่มีผู้ช่วยงานศพไปแล้ว ดังนั้นถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยต่อสู้ มูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยก็ไม่เกิดขึ้น สัญญากู้ที่ทำระหว่างโจทก์จำเลยย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับ เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบตามข้อต่อสู้ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 147/2525)
        ตัวอย่าง จำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้รายพิพาทเกิดจากโจทก์ขู่เข็ญให้ทำ จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ สัญญากู้เงินจึงไม่สมบูรณ์ เป็นการต่อสู้ว่าไม่มีมูลหนี้ผูกพันกันตามสัญญากู้และหนี้เงินกู้ไม่สมบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ให้จำเลย จำเลยจึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบหักล้างได้ ไม่ถือว่าเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข) จะงบสืบพยานแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1804/2529)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่าชั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือนจำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งการพาณิชย์มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ (คำพิพากษาฎีกาที่ 4133/2529)
        (2) การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งขอนำสืบว่า นิติกรรมหรือสัญญาที่พิพาทกันนั้นความจริงไม่ได้ตั้งใจจะผูกพันกันจริง หากแต่เป็นเจตนาลวง หรือนิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ดังนี้ คู่กรณีดังกล่าวจะนำพยานบุคคลมาสืบประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อเรือกลไฟจากนายแจ้ และได้ให้จำเลยเช่า คิดค่าเช่าเป็นรายเดือน จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าและไม่ยอมคืนเรือให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยปฏิเสธและขอสืบพยานบุคคลว่า ความจริงเรือลำนี้จำเลยเป็นผู้ซื้อแต่เงินไม่พอ จึงให้โจทก์ช่วยออกให้จำเลยกู้ 2,400 บาท จำเลยออก 900 บาท และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของเรือ แต่สัญญากู้ไม่มี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการสืบเพื่อแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายเรือโดยแท้ศาลไม่ควรรับฟัง เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ข้อที่จำเลยอ้างว่า ที่ยอมให้โจทก์ทำเช่นนี้เพื่อประกันเงินกู้ และเพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นการกระทำเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง แต่เป็นการตกลงกันเองเพื่อเสียดอกเบี้ยมากหรือน้อยเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1014/2485)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์ แต่ตามสัญญาที่โจทก์อ้างปรากฎชัดว่าเป็นสัญญากู้เงิน และให้นาทำต่างดอกเบี้ย โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าเป็นการขายนา ไม่ใช้กู้ ไม่ได้ เพราะฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2486)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการให้ จำเลยต่อสู้ว่า ความจริงโจทก์ขายที่ดินให้แก่จำเลยและนางสาวถุงเงิน แต่นางสาวถุงเงินเป็นผู้เยาว์ จะทำการซื้อโดยไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ จึงทำเป็นการยกให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบว่าสัญญาให้ทรัพย์ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นสัญญาที่ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริง คือสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสองจำเลยจึงสืบได้ โดยต้องด้วยข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย (คำพิพากษาฎีกาที่ 93/2488)
        ตัวอย่างโจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนขายที่ดินให้ทั้งโฉนด 20 ไร่ แต่ความจริงขายเพียง 17 ไร่ อีก 3 ไร่ฝากไว้ในโฉนดเดียวกัน เพราะแบ่งแยกโฉนดลำบาก บัดนี้จำเลยไม่ยอมให้โจทก์แยกโฉนดส่วน 3 ไร่ ดังนี้เป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์นำสืบพยานบุคคลตามฟ้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 272/2498)
        ตัวอย่าง ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองนั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่า สัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณีโดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองต่อกัน หากเป็นความจริงดังจำเลยอ้างสัญญาขายฝากย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 18 วรรคสอง ฉะนั้น การที่จำเลยขอนำสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ จึงมิใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหากแต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาขายฝากไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยจึงสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (คำพิพากษาฎีกาที่ 295/2508 ประชุมใหญ่)
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญากู้เงินจำนวนตามฟ้อง แต่ต่อสู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเปล่าสำหรับการเช่าที่จำเลยตกลงจะให้โจทก์เช่าเมื่อจำเลยรับเงินแล้ว โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้เป็นหลักฐานว่ารับเงินจากโจทก์และตกลงกันว่าถ้าโจทก์ผิดนัด จำเลยมีสิทธิรับเงินและโจทก์จะคืนสัญญากู้ได้ ต่อมาโจทก์ผิดนัด จำเลยจึงมีสิทธิรับเงินและโจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้ฟ้องจำเลย ดังนี้จำเลยย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบว่าหนี้ตามสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ใช่เจตนาที่แท้จริง (คำพิพากษาฎีกาที่ 971/2513)
        (3) การนำพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญาหรือหนี้ในเอกสารเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุอื่น
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงิน 37,200 บาท ขอให้จำเลยใช้คืน จำเลยให้การว่าจำเลยกู้เพียง 30,000 บาท สามีโจทก์เขียนสัญญาใส่จำนวนเงินเท่าใดไม่ทราบ เพราะจำเลยไม่รู้หนังสือไทย จำเลยเอาของอื่นตีใช้หนี้ไปแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำสืบว่า สามีโจทก์ใส่จำนวนเงินเอาเองผิดไปจากที่จำเลยกู้นั้น  เป็นการสืบให้เห็นว่าจำนวนเงินที่สามีโจทก์เขียนในสัญญากู้ ผิดจากที่จำเลยขอกู้จริง เท่ากับสามีโจทก์ปลอมจำนวนเงินกู้ จำเลยย่อมนำสืบได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 327 - 328/2501)
        ตัวอย่าง สัญญาเช่ามีข้อความว่า จำเลยผู้เดียวเป็นผู้เช่าบ้านในอัตราค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,500 บาท จำเลยต่อสู้ว่า ความจริงโจทก์ผู้ให้เช่าได้แบ่งให้ผู้อื่นเช่าหลายคนจำเลยเสียค่าเช่าห้องเพียง 700  บาท การที่โจทก์ให้จำเลยผู้เดียวทำสัญญาเช่าบ้านทั้งหลังและเอาค่าเช่าผู้อื่นมารวมกันเป็น 2,500 บาท ก็เพื่อสะดวกในการที่โจทก์จะเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ดังนี้จำเลยย่อมนำสืบได้เพราะเป็นการสืบหักล้างถึงความไม่สมบูรณ์ของสัญญาเช่า (คำพิพากษาฎีกาที่ 333/2511)
        ข้อสังเกต คดีนี้จำเลยจะขอนำสืบว่า ที่โจทก์เอาค่าเช่าหลายคนมารวมไว้เป็นสัญญาฉบับเดียวก็เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการควบคุมของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่ายาม คับขัน พ.ศ. 2504 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่าถ้าทรัพย์ที่เช่ามีค่าเช่าเกินเดือนละ 1,000 บาท ไม่อยู่ในความควบคุมเพื่อแสดงว่าสัญญาที่โจทก์ทำขึ้นด้วยเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าสัญญาเป็นโมฆะ
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยหลอกลวงให้หลงเชื่อว่า เอกสารที่โจทก์ลงชื่อเป็นสัญญาจำนอง เมื่อจำเลยปฏิเสธ โจทก์ก็ย่อมนำสืบพยานประกอบข้ออ้างของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง เพราะมิใช่การนำสืบข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านที่โจทก์จำเลยทำต่อกันไว้ หากเป็นการนำสืบว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโมฆะทั้งฉบับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2250/2524)
         4. นำสืบว่าอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด ข้อนี้ความจริงมิได้เป็นการนำสืบเพื่อทำลายหรือหักล้างเอกสาร แต่เป็นการสืบว่า เอกสารนั้นยังใช้ได้อยู่ แต่ใช้บังคับไปอีกอย่าง ไม่ใช่อย่างที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจ
        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องเรียกเรือคืนจากจำเลย จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ขายให้จำเลยโดยทำหนังสือสัญญาที่อำเภอ ฝ่ายโจทก์ว่า โจทก์ขายเรือบดให้จำเลย ไม่ได้ขายเรือใบพิพาทให้จำเลย แม้หนังสือสัญญาระบุว่าขายเรือใบ แต่เลขทะเบียน ขนาดกว้างยาว และน้ำหนักบรรทุกในหนังสือไม่ตรงกับเรือพิพาท ดังนี้โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 547/2487)
        ตัวอย่าง จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่รายพิพาทให้ตน แต่เลขโฉนดที่ระบุในพินัยกรรมต่างกับโฉนดรายพิพาท เมื่อจำเลยอ้างว่าเลขโฉนดในพินัยกรรมเขียนผิด เพราะผู้ตายมีที่นาเฉพาะแปลงพิพาทแปลงเดียว ดังนี้จำเลยย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบถึงเจตนาอันแท้จริงเพื่อแปลความหมาย เป็นการสืบทำนองเดียวกับการกล่าวขานชื่อบุคคลหรือทรัพย์สิน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1586/2492)
        ตัวอย่าง สัญญามีข้อความในตอนต้นว่า  กู้เงินเอาที่ดินเป็นประกันและตีราคาที่ดินไว้แต่ตอนท้ายสัญญามีว่า ยอมให้ทำนาต่างดอกเบี้ยจนกว่าจะได้ไปทำสัญญาซื้อขาย่อมมีความสองนัย คือ กู้เงินหรือจะซื้อขายที่ดิน ดังนี้คู่ความสืบพยานเพื่อตีความได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 385/2493)
        ตัวอย่าง สัญญากู้มีข้อความว่า ไม่คิดดอกเบี้ย โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้หมายความเพียงว่า ไม่มีดอกเบี้ยเป็นเงิน แต่จำเลยยอมให้โจทก์ทำนาได้ต่างดอกเบี้ยเพราะเป็นการสืบอธิบายความหมายของสัญญากู้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 791/2511)
        ตัวอย่าง หนังสือสัญญาขายฝากตามแบบพิมพ์ที่จดทะเบียนมีว่า ผู้ขายฝากตกลงขายฝากที่ดิน มีกำหนด….ปีแสดงว่ามีกำหนดเวลาแต่ไม่ได้กรองลงไว้ ศาลรับฟังตามเอกสารที่ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ได้ทำพร้อมกับสัญญาขายฝากได้ว่าการขายฝากนี้มีกำหนด 4 เดือน ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร (คำพิพากษาฎีกาที่ 852/2520)

        ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าซื้ออ้อยจากโจทก์ตามสัญญาขายอ้อย จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากโจทก์จริง แต่ได้ชำระเงินค่าอ้อยให้โจทก์แล้ว ตามสัญญาซื้อขายอ้อยมีข้อความในข้อ 1 ตอนท้ายว่า “….และผู้ขายได้รับเงินดังกล่าวไปจากผู้ซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2525 ในราคาไร่ละ 5,000 บาท รวมที่ดิน 50 ไร่เป็นเงิน 25,000 บาท และมีข้อความในข้อ 3 ระบุว่าผู้ขายและผู้ซื้อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันขายอ้อยสดในราคาไร่ละ 5,000 บาท เมื่อตัดอ้อยส่งโรงงานเรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อจะต้องรีบนำเงินมาชำระอ้อยในจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้  โจทก์ขอสืบพยานบุคคลว่ายังไม่ได้ชำระเงิน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อความในสัญญาซื้อขายระบุเรื่องการชำระเงินไว้ขัดแย้งกันไม่อาจรับฟังเป็นยุติไปในทางใดได้ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่าแท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไร ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์สืบพยานบุคคลตามข้อกล่าวอ้างได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 236/2534)

0 comments:

Post a Comment