บทที่ 3
การห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
เมื่อเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องมีการนำพยานหลักฐานมาสืบคู่ความแต่ละฝ่ายย่อมมีสิทธิโดยอิสระที่จะอ้างพยานประเภทใดมาสืบก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ
สุดแต่ว่าพยานชนิดใดจะเป็นพยานที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนั้น
โดยเฉพาะในคดีแพ่งซึ่งพยานหลักฐานมักจะเป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร พยานบุคคลและพยานเอกสารต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันไปคนละอย่าง
กล่าวคือ พยานบุคคลนั้นโดยปกติจะเป็นผู้ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงใกล้ชิดที่สุด
(ประจักษ์พยาน) ไม่มีการถ่ายทอดข้อเท็จจริงผ่านไปยังผู้อื่น
และการมาเบิกความในศาลก็ตกอยู่ภายใต้ความศักดิ์สิทธิของการสาบาน การถูกสังเกตอากัปกิริยาจากฝ่ายผู้พิพากษาและคู่ความฝ่ายตรงข้าม
และการถูกถามค้านโดยฝ่ายตรงข้าม
เหล่านี้เป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือของพยานแต่จุดด้อยของพยานบุคคลก็คือ
ระยะเวลาระหว่างตอนที่พยานพบเห็นข้อเท็จจริงกับตอนที่มาเบิกความในศาลมักจะเป็นเวลานานมาก
จนความจำของพยานไม่อาจแม่นยำเหมือนเดิม
ทำให้เกิดปัญหาพยานจำข้อเท็จจริงไม่ได้หรือจำผิด นอกจากนี้
พยานอาจมีความบกพร่องในการรับรู้ข้อเท็จจริง
หรือการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจ ส่วนพยานเอกสารนั้นมีจุดเด่นตรงที่ว่า
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ข้อความในเอกสารก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะถ้าได้ต้นฉบับของเอกสารมาสืบ แต่จุดด้อยก็คือ เอกสารเกิดขึ้นเองไม่ได้
จะต้องมีบุคคลทำเอกสารนั้นขึ้นซึ่งไม่มีหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะทำเอกสารนั้นตามความจริง
หรือแกล้งทำเอกสารเท็จ ยิ่งถ้าไม่มีการนำตัวคนทำเอกสารมาสืบประกอบแล้ว
ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อของเอกสารลดลงไปอีกนอกจากนี้
พยานเอกสารยังมีปัญหาเรื่องการปลอมหรือความไม่ถูกต้องแท้จริงอีกด้วย
จากจุดเด่นจุดด้อยของพยานแต่ละประเภทที่กล่าวมา
จะเห็นได้ว่าจุดด้อยของพยานเอกสารเกี่ยวกับความน่าเชื่อ
หรือความถูกต้องตรงข้อเท็จจริงนั้น อาจแก้ไขได้ถ้าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างคู่ความหรือคู่กรณีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป
เพราะในกรณีเช่นนี้คู่ความฝ่ายหนึ่งย่อมต้องระวังผลประโยชน์ของตนและไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งทำเอกสารมีข้อความเท็จ
เช่น ในการทำสัญญาซื้อขายซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายต่างลงชื่อในสัญญา
ย่อมน่าเชื่อว่าข้อความคงจะถูกต้องเพราะอยู่ภายในความรู้เห็นของทั้งสองฝ่าย
จะเห็นได้ว่าถ้าสามารถแก้ไขจุดด้อยของพยานเอกสารข้อนี้ได้
พยานเอกสารย่อมมีคุณลักษณะเหนือพยานบุคคล
ดังนั้นในคดีที่สภาพแห่งข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับนิติกรรมสัญญาประเภทสำคัญที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ
หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ
จึงสมควรที่จะให้มีการสืบพยานเอกสารเพื่อพิสูจน์เนื้อความในสัญญานั้นเพียงอย่างเดียว
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโต้เถียงกันไม่รู้จบโดยการนำพยานบุคคลมาสืบ
ทำให้คดีดำเนินไปได้โดยรวดเร็วและประหยัดขึ้น
จึงทำให้เกิดมีหลักการรับฟังพยานบุคคลมาสืบแทนหรือเพิ่มเติมแก้ไขข้อความในเอกสาร
หลักที่ว่าพยานเอกสารตัดพยานบุคคล
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
ก. ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
ข.
ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงว่ายังข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา
(2) แห่งมาตรา
93
และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้าง
และนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วนหรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
บัญญัติไว้เป็นหลักว่าข้อความเป็นเอกสารเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบให้ศาลเห็นเป็นอื่นไม่ได้
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
หลักเกณฑ์การห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 94 มีดังนี้
1. ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
หมายความว่าเป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาซึ่งมีกฎหมายสารบัญญัติบังคับว่าต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
เช่น การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาท สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน เป็นต้น
ถ้าเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงแล้ว
มาตรา 94 มิได้ใช้บังคับเฉพาะคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงซึ่งมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นแต่บังคับตลอดถึงคู่กรณีฝ่ายอื่นด้วย
บางกรณีกฎหมายสารบัญญัติให้คู่กรณีเลือกทำได้หลายวิธี
เช่น อาจทำหลักฐานเป็นหนังสือ หรือวางประจำ หรือชำระหนี้บางส่วน เช่น
สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กรณีดังกล่าว ถ้าคู่กรณีเลือกเอาการวางประจำ
หรือชำระหนี้บางส่วน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และไม่
ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสาร1 แต่ถ้าคู่กรณีทำหลายวิธีไปด้วยกัน เช่น
ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยวางประจำด้วย
จะถือว่าเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงหรือไม่
ตัวอย่างโจทก์จำเลยร่วมกันยื่นเรื่องราวตามแบบพิมพ์ของทางราชการต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มีข้อความว่าโจทก์ขอแบ่งที่ดินขายให้จำเลยในราคา 4,000 บาท โดยจำเลยชำระเงินแล้ว 3,000 บาท
บัดนี้โจทก์มาฟ้องจำเลยและขอสืบพยานบุคคลว่าการที่โจทก์จะขายที่พิพาทให้จำเลยในราคา
4,000 บาท
ก็โดยจำเลยจะต้องยกที่ดินที่โจทย์อาศัยปลูกเรือนอยู่ให้โจทก์ด้วย
ซึ่งข้อความนี้ไม่มีอยู่ในเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องราวที่แจ้งให้พนักงานที่ดินทราบเพื่อดเนินการเท่านั้น
ไม่ใช่สัญญาจะซื้อขาย จะเป็นได้ก็เพียงหลักฐานแห่งการจะซื้อจะขาย
ปรากฏว่าจำเลยชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์แล้วบางส่วน สัญญาเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสัญญาเป็นหนังสือมาแสดง
ฉะนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบ จึงไม่ต้องห้าม (คำพิพากษาฎีกาที่ 200 / 2509)
ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์
โจทก์วางเงินมัดจำจำนวนหนึ่งและนัดวันโอนกรรมสิทธิ์กัน จำเลยผิดสัญญาไม่โอนให้
จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและยังไม่ได้รับเงินมัดจำ
จำเลยขอสืบพยานบุคคลว่า จำเลยยังไม่ได้รับมัดจำเพราะโจทก์ขอผัดศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
1) สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองบัญญัติให้ทำได้ 3 ประการ คือ มีหนังสือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง
วางประจำอย่างหนึ่งหรือชำระหนี้บางส่วนอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าคู่สัญญาจะทำกันโดยใช้วิธีแรก คือ ทำหนังสือสัญญาเป็นหลักฐานแล้ว
ก็เป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
และจะนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารมิได้
แต่ถ้าทำโดยวิธีหลังก็ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้มีพยานเอกสารมาแสดง
2) คดีนี้โจทก์จำเลยทำสัญญาเป็นหนังสือ
แม้ในสัญญาจะระบุว่าวางมัดจำด้วยก็เป็นที่เห็นได้ว่า ความประสงค์ของคู่สัญญามุ่งจะผูกมัดกันโดยหนังสือสัญญา
การวางมัดจำเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่ง กรณีนี้จึงต้องด้วยมาตรา 94
เมื่อหนังสือสัญญาระบุว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว
จำเลยจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าไม่ได้รับเพราะโจทก์ขอผัดนั้นรับฟังไม่ได้
เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ใช่หักล้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1545/2492, 1541/2509, 2216/2515)
สรุปได้ว่า
ปัญหาข้อนี้ต้องพิจารณาเจตนาของคู่กรณีเป็นใหญ่
ถ้าคู่กรณีมีเจตนาจะถือเอาเอกสารเป็นสำคัญ
ก็ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ทำหลักฐานไว้เป็นหนังสือ แม้จะมีการวางประจำหรือชำระหนี้บางส่วน
ก็ควรถือเป็นส่วนหนึ่งขอลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเป็นกรณีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตามมาตรา
942
แต่ถ้าเป็นสัญญาที่กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ
หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว แม้คู่สัญญาจะสมัครใจทำข้อตกลงกันไว้เป็นหนังสือ
หรือลายลักษณ์อักษรก็ไม่ใช่กรณีที่จะต้องห้ามนำสืบพยานบุคคล
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 94 ไม่นำไปใช้บังคับในคดีอาญา เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
การนำสืบพยานในคดีอาญานั้นอาจทำได้อย่างกว้างขวางไม่มีข้อจำกัดเหมือนคดีแพ่ง
พยานหลักฐานใดที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือบริสุทธิ์
ย่อมนำสืบได้ทั้งสิ้น
ตัวอย่าง โจทย์ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน
มีหน้าที่รับจ่ายเงินของกรมการทหารการช่างได้เรียกและยอมรับเงินที่จำเลยมิควรได้ตามกฎหมายจากนายทหาร
9 คน
รวมเป็นเงิน 800 บาท จำเลยให้การปฏิเสธ คดีมีประเด็นข้อหนึ่งว่า
โจทก์นำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารต้องห้ามหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในคดีอาญา
คู่กรณีมีสิทธินำพยานมาสืบประกอบแสดงข้อเท็จจริงแห่งข้อความในเอกสารว่าถูกต้องกับความจริงได้
(คำพิพากษาฎีกาที่ 273/2498)
3. ข้อห้ามตามมาตรา 94 เป็นข้อห้ามเด็ดขาด
แม้คู่ความจะตกลงยินยอมให้ฝ่ายหนึ่งนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารได้
ข้อตกลงนั้นไม่มีผลบังคับและศาลจะไม่ยอมรับฟังพยานบุคคลนั้นอยู่ดี
สาระของข้อห้ามตามมาตรา 94
มาตรา 94 ห้ามคู่ความพยานบุคคลมาสืบในเรื่องต่อไปนี้
1. ห้ามนำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงหมายความว่าเมื่อกฎฆมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง
เช่น โจทย์ ฟ้องเรียกเงินกู้เกิน 50 บาท ดังนี้คู่ความจะต้องนำเอกสารอันเป็นหลักฐานกู้ยืมมาแสดง
จะนำพยานบุคคลมาสืบว่ามีการกู้ยืม โดยไม่นำเอกสารมาแสดงไม่ได้
ความจริง
กรณีที่กฎหมายบังคับให้มีเอกสารมาแสดงนั้น
ได้มีกฎหมายสารบัญญัติกล่าวถึงผลของการไม่มีเอกสารไว้แล้ว กล่าวคือ
ถ้าเป็นกรณีที่ต้องทำเป็นหนังสือก็เป็นโมฆะ
หรือถ้าเป็นกรณีต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ฟ้องหรือต่อสู่คดีไม่ได้
ซึ่งทำให้ขาดอำนาจฟ้องมาแต่แรก ไม่ค่อยมีปัญหามาถึงขึ้นการสืบพยาน
เพราะถ้าศาลเห็นว่าไม่มีหนังสือ ก็อาจงดสืบพยาน แล้วตัดสินยกฟ้องไปเลย
มีข้อที่ควรสังเกตว่า
กฎหมายห้ามเฉพาะการเอาพยานบุคคลสืบแทนเอกสารเท่านั้นแต่มิได้ห้ามการนำพยานบุคคลมาสืบประกอบพยานเอกสาร
คือ สืบทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลเพื่อยืนยันข้อความในเอกสารให้หนักแน่นขึ้น
ตามปกติเอกสารจะเป็นพยานชั้นสองเพราะต้องมีบุคคลผู้ทำเอกสารนั้นขึ้นซึ่งเป็นพยานชั้นหนึ่ง
ปกติการสืบพยานเอกสารจะต้องนำบุคคลผู้ทำเอกสารหรือรู้เห็นการทำเอกสารนั้นมาสืบประกอบเสมอ
2. ห้ามนำพยานบุคคลมาสืบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน
หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
หมายความว่าในกรณีที่ต้องพยานเอกสารมาแสดง ถ้าฝ่ายหนึ่งมีพยานเอกสารมาแสดง
แล้วก็ห้ามฝ่ายนั้นเองหรืออีกฝ่ายหนึ่งนำพยานบุคคลมาสืบว่าเอกสารของฝ่ายแรกยังมีข้อความที่ไม่สมบูรณ์
จะขอสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือแก้ไข
ข้อความในเอกสารนั้นถ้าต้องการจะสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องหาพยานเอกสารด้วยกันมาสืบ
มิฉะนั้นศาลจะรับฟังตามข้อความในเอกสารของฝ่ายแรก
ตัวอย่าง
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยรับว่าทำสัญญาไว้จริง
แต่มีเงื่อนไขอื่นนอกจากที่ปรากฏในสัญญาว่า
โจทก์จะนำทรัพย์มรดกที่ถูกทายาทหลักไปมาคืนให้จำเลย
ๆจึงจะยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยจะขอสืบพยานบุคคลถึงเงื่อนไขนี้
ศาลฎีกาตัดสินว่า เป็นการสืบแก้ไขข้อความในเอกสาร สืบไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 308/2491)
ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงิน 4,000 บาท
และรับเงินไปแล้วตามเอกสารการกู้ท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่า
จำเลยกู้เงินโจทก์จริงแต่รับเงินไปเพียง 3,850 บาท เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ย 150 บาท และหักเอาไว้เลย ดังนี้
คดีต้องห้ามมิให้นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารการกู้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 779/2497)
มาตรา 94 ห้ามนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวข้องกับพยานเอกสารเพียง 2 กรณีดังกล่าว ดังนั้น
การสืบพยานบุคคลในลักษณะอื่นที่มิใช่แทนพยานเอกสาร มิได้เพิ่มเติม
ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ย่อมไม่ต้องห้าม
การสืบพยานบุคคลที่ไม่ต้องห้ามลักษณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
การนำสืบพยานบุคคลโดยไม่แตะต้องข้อความในเอกสาร ซึ่งอาจแยกพิจารณา ดังนี้
1. นำสืบพยานบุคคลถึงที่มาแห่งนี้ตามเอกสาร
ตามปกติการนำสืบว่าหนี้หรือสัญญาตามเอกสารที่มาอย่างไร ย่อมไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติม
หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารเพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงอีกอันหนึ่งก่อนที่จะมีการตกลงทำสัญญากันตามข้อความในเอกสาร
แม้การนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้จะทำให้ความรบผิดในหนี้ตามเอกสารนั้นเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา
94
ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 6 ครั้ง
แล้วผิดนัดขอให้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำเลยให้การว่า ครั้งที่ 1 ชำระแล้ว โจทก์ทำหลักฐานให้แต่หายไป
ครั้งที่ 2 กู้จริง ครั้งที่ 3 โจทก์เอาต้นเงินครั้งที่ 2 มารวม ครั้งที่ 4 เอาต้นเงินครั้งที่ 3 มารวม ครั้งที่ 5 โจทก์ เอาต้นเงินครั้งที่ 4 มารวม โดยบอกว่าจะทำลายสัญญากู้ฉบับก่อนๆ เสียส่วนครั้งที่ 6 เกิดจากจำเลยค้างชำระดอกเบี้ย
โจทก์จึงเอาดอกเบี้ยที่ค้างมารวมกับต้นเงินในสัญญาฉบับที่ 5 ดังนั้นจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์น้อยกว่าจำนวนที่ฟ้อง
เพราะต้นเงินตามสัญญากู้ซ้ำกัน
มีปัญหาว่า จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบตามที่ต่อสู้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
สัญญากู้ฉบับหลังสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมาย
การนำสืบของจำเลยมิใช่การสืบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์
แต่เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลัง
การนำสืบที่มาแห่งนี้ไม่ใช้การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร
การนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบว่า
หนี้เงินตามสัญญาฉบับก่อนได้นำมารวมไว้ในฉบับหลังแล้ว
ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ทุกฉบับ จึงเป็นการฟ้องชำระหนี้รายเดียวกัน
จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 522/2505)
2. การนำสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงระหว่างคู่กรณี
ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังคู่กรณีได้ทำนิติกรรมสัญญาที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
มีข้อความพิจารณาดังนี้
(1) ถ้าเป็นข้อตกลงใหม่ที่เกี่ยวพันกับกรณีเดิมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
เช่น ข้อตกลงเลิกสัญญาเดิม หรือข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาใหม่แยกได้ต่างหากจากสัญญาเดิม
และข้อตกลงใหม่นี้ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงก็ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้
ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
ก็ตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 94
ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่า กู้เงินจำนวน 2,500 บาท เอาโฉนดให้ยึดถือไว้เป็นประกันโจทก์นำต้นเงินและดอกเบี้ยไปชำระ
จำเลยไม่ยอมรับขอให้บังคับให้จำเลยรับชำระหนี้และคืนโฉนดให้โจทก์
จำเลยให้การว่าหลังจากโจทก์กู้เงินจำเลยแล้ว โจทก์ได้พา ย. มากู้เงินจำเลย 2,500 บาท
โดยโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและมอบโฉนดฉบับเดิมให้จำเลยยึดถือไว้ด้วย
โจทก์ขอชำระหนี้ของโจทก์และขอโฉนดคืน จำเลยจึงไม่ยอม
คู่ความรับข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การ แต่ในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ระบุว่า
โจทก์ได้มอบโฉนดฉบับเดิมให้จำเลยยึดถือไว้ด้วย
โจทก์ขอชำระหนี้ของโจทก์และขอโฉนดคืน จำเลยจึงไม่ยอม
คู่ความรับข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การ แต่ในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ระบุว่า
โจทก์ได้มอบโฉนดให้จำเลยยึดถือเป็นประกันจำเลยจะขอสืบพยานบุคคลว่ามีการตกลงกันด้วยวาจา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
แม้สัญญาที่โจทก์ค้ำประกัน ย.
จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่ข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้จำเลยยึดโฉนดไว้จนกว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้จาก
ย. ครบถ้วนนั้นเป็นสัญญาที่ตกลงกันเป็นพิเศษอีกอันหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันและสัญญาอย่างนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
จำเลยย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมสัญญาค้ำประกันตามมาตรา 94 (ข) (คำพิพากษาฎีกาที่ 505/2507)
(2) ถ้าเป็นข้อตกลงใหม่ที่เป็นการแก้ไข
เพิ่มเติมหรือตัดทอนข้อสัญญาเดิมดังนี้ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงใหม่นั้นเป็นสาระสำคัญของกรณีเดิมจนไม่อาจแยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งได้
ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่า แม้จะมีข้อตกลงใหม่
ข้อตกลงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรณีเดิมนั่นเอง
เมื่อกรณีเดิมมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
ข้อตกลงใหม่ก็ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงด้วย เช่น
สัญญาจะซื้อขายที่ดินเดิมตกลงราคากันไว้ 100,000 บาท ต่อมาตกลงลดราคาลงเหลือ 80,000 บาท ดังนี้ก็ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือด้วย หรือกู้ยืมเงินกัน 5,000 บาท
กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าตกลงกันใหม่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี
ก็ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงแต่ถ้าข้อตกลงใหม่นั้นมิได้แตะต้องกระทบกระเทือนเนื้อความในเอกสารหากเป็นการตกลงกันในรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวิธีการที่จะชำระหนี้ที่เกิดจากข้อความในสัญญา
ดังนี้ ย่อมไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 (ข)
ตัวอย่าง การนำสืบว่า
โจทก์จำเลยและผู้ที่ร่วมกันซื้อที่ดินเนื้อที่ 217
ตารางวาตามสัญญาซื้อขายได้ทำความตกลงกัน ให้กันที่ดินจำนวน 17
ตารางวาไว้เป็นทางสาธารณะนั้นเป็นการนำสืบข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายซึ่งอ้างว่ามีอยู่ระหว่างผู้ซื้อด้วยกันหาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายนั้นไม่
โจทก์จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 325/2524)
ตัวอย่าง สัญญาจะซื้อขายที่ดิน
ระบุถึงเรื่องการปรับปรุงที่ดินเพียงว่า “ผู้ซื้อยินดีจะจ่ายส่วนหนึ่งของค่าที่ดินให้แก่ผู้ขายเป็นค่าปรับปรุงที่” ข้อความดังกล่าวบ่งถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายเกี่ยวกับการปรับปรุงที่ดินที่จะซื้อขายกันแต่ข้อตกลงนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่
หรือมีสาระสำคัญอย่างไร จำต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมา ซึ่งการนำสืบถึงข้อตกลงในลักษณะเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลในข้อนี้ได้ไม่ต้องห้ามตาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
(คำพิพากษาฎีกาที่ 775/2533)
ตัวอย่าง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุว่า
จำเลยได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 40,000 บาท ชำระเงินแล้ว 10,000 บาท แต่เอกสารดังกล่าวมิได้กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระเงินที่เหลืออีก 30,000บาท ภายในกำหนดเวลาเท่าใด
การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือจึงเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายเพื่อให้ชัดเจนดังนี้
ไม่เป็นการสืบแก้ไขเพิ่มเติมเอกสาร (คำพิพากษาฎีกา 1174 – 1175/2533)
(3) กรณีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีจำนวนตั้งแต่สองคนขึ้นไปทำสัญญาที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือกับบุคคลอื่น
แต่ในระหว่างคู่กรณีกันเองก็มีข้อตกลงกำหนดสิทธิ หน้าที่
หรือความรับผิดกันไว้ต่างหาก
ซึ่งข้อตกลงส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้น
ถ้าคู่กรณีมีการฟ้องกันเองตามข้อตกลงเช่นวันนี้
แต่ละฝ่ายสามารถนำพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงเช่นนั้นได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา
94
ตัวอย่าง โจทก์จำเลยและผู้ที่ร่วมซื้อที่ดินเนื้อที่ 217 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขายได้
ทำความตกลงกันว่าให้กันที่ดินจำนวน 17 ตารางวา ไว้เป็นทางสาธารณะ
แต่ข้อตกลงเรื่องกันที่ดินไว้เป็นสาธารณะนี้ไม่เขียนไว้ในสัญญาซื้อขาย
อย่างไรก็ดีโจทก์หรือจำเลยหรือผู้ที่ร่วมกันซื้อย่อมมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงต่างหากนี้ได้หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายไม่
โจทก์จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงดังกล่าว
ไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขสัญญาซื้อขาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 325 / 2524)
3. การนำสืบถึงฐานะของบุคคลที่ปรากฏในเอกสาร
หมายถึงการที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะขอนำสืบพยานบุคคลว่าบุคคลที่ปรากฏฐานะอยู่ในเอกสารเป็นคู่สัญญานั้นไม่ได้มีฐานะเช่นนั้นจริงๆ
แต่มีฐานะเป็นอย่างอื่นประการหนึ่ง
หรือการขอนำสืบพยานบุคคลว่าบุคคลซึ่งมิได้ปรากฏชื่อในสัญญาที่มีเอกสารมาแสดงเป้นคู่สัญญาในสัญญาฉบับนั้นอีกประการหนึ่ง
ความจริงแล้วการนำสืบในกลุ่มนี้ก็คือการนำสืบฐานะการเป็นตัวการตัวแทนในสัญญานั้นเอง
เหตุที่จะต้องมีการนำสืบพยานบุคคลอธิบายฐานะของบุคคลในเอกสารว่าเป็นตัวการหรือตัวแทนอะไรนี้เกิดจากว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมอบหมายให้บุคคลอื่นมาทำสัญญานั้นแทนในลักษณะของตัวแทน
ในการมอบอำนาจหรือมอบหมายให้มากทำการแทนนั้น
ถ้ามีการแสดงตัวและมีการระบุไว้โดยชัดเจนในสัญญา ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น
จะไม่ต้องมีการนำสืบพยานบุคคลแสดงฐานะของบุคคล ตัวอย่าง เช่น นาย ก. มอบหมายให้นาย
ข. ไปทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างตึกหลังหนึ่งกับนาย ค. ถ้าตอนที่นาย ข.
ไปทำสัญญากับนาย ค. นาย ข. เปิดเผยฐานะของตนโดยชัดแจ้ง
คือบอกว่าตัวเองนั้นเป็นตัวแทนของนาย ก. และระบุไว้ในสัญญาก่อสร้างเลยว่าผู้จ้าง
คือ นาย ก. โดยนาย ข. เป็นตัวแทนถึงแม้นาย ข. จะลงชื่อเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง
คือ นาย ก. โดยนาย ข. เป็นตัวแทนถึงแม้นาย ข.จะลงชื่อเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง
เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว ก็จะได้ความชัดเจนว่านาย ข. นั้นเป็นเพียงตัวแทน ส่วนนาย ก.
เป็นตัวการ อันนี้ก็ชัดเจนในเอกสาร ไม่ต้องมีการนำสืบพยานบุคคลอะไรกันอีก
แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่นาย ข. มาทำสัญญากับนาย ค. โดยไม่เปิดเผยฐานะของตนเอง
เพราะฉะนั้นในสัญญาก่อสร้างก็จะระบุว่านาย ข. เป็นผู้ว่าจ้าง แล้ว นาย ข.
ก็ลงชื่อในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยนาย ค. ไม่ทราบเลยว่า นาย ข. นั้นเป็นเพียงตัวแทน
สภาพการณ์ลักษณะนี้ที่จะก่อให้เกิดปัญหาที่จะต้องมีการนำสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงฐานะของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้
ในทางทฤษฎี
การนำสืบถึงฐานะบุคคลไม่น่าจะเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร
เพราะเป็นการนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนๆ นั้นมีฐานะอย่างไรในสัญญา
เป็นตัวการหรือเป็นตัวแทน
ถ้าเราดูบทบัญญัติในเรื่องตัวแทนเราจะเห็นได้ว่ามีหลายมาตราที่เขียนไว้ตามสัญญาตัวการตัวแทน
การที่ตัวแทนไม่ได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็นตัวการเป็นใครนั้นไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวการตัวแทนหรือตัวการกับบุคคลภายนอกเสียไป
ตัวการสามารถจะเข้ามาเปิดเผยตัวเองแล้วเข้ารับสิทธิประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นการนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่แสดงถึงฐานะของบุคคล
เช่นนี้ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าต้องห้ามตามมาตรา 94
0 comments:
Post a Comment