เรียบเรียงโดย
นายพิริยะ ตระกูลสว่าง และคณะ
นักศึกษาปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน รุ่นที่ 2
ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม
มโนทัศน์สำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนดังที่จะกล่าวต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
ในการจัดการศึกษา และก่อให้เกิดทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะช่วยอธิบายธรรมชาติ
และลักษณะสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
และจะนำไปสู่การสอนอย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่เหมาะสม
โดยแยกคำนิยามเกี่ยวกับมโนทัศน์และแสดงให้เห็นรายละเอียดและสาระสำคัญของแต่ละมโนทัศน์
คือ
ศาสตร์การสอน
ศาสตร์การสอน (Science
of Teaching) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนที่สังคมโลกได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย
/ จุดหมาย / วัตถุประสงค์ของการสอนที่กำหนด ความรู้ดังกล่าวได้มาจากการคิด
การวิเคราะห์ของนักปราชญ์ และนักคิดทั้งหลายหรือได้มาจากการศึกษา ค้นคว้า
พิสูจน์ทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาต่างๆ
ข้อความรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษา บริบท ทางการสอน ทฤษฎี หลักการ
แนวคิด ระบบ รูปแบบ วิธีการ เทคนิค และจิตวิทยาทางการเรียนรู้และการสอน
การวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนการสอน การดำเนินการเรียนการสอน
การวัดและประเมินผล สื่อและเทคโนโลยีทางการสอน นวัตกรรมและการวิจัยการเรียนการสอน
เป็นต้น
ศิลปะการสอน
ศิลปะการสอน (Art of
Teaching) หมายถึง
ความรู้และความสามารถในการนำจิตวิทยา วิธีการและเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการสอน
เพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุกมีชีวิตชีวา
และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ราบรื่นและมีความสุข
บริบททางการสอน
บริบททางการสอน (Teaching
Context) หมายถึง
สิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
ซึ่งมีความสัมพันธ์ / มีอิทธิพลตอ่การสอน ทั้งในระดับจุลภาพ (micro) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ตัวผู้เรียนผู้สอนมากที่สุด
ไปจนถึงระดับมหภาค (macro) ซึ่งเป็นระดับที่ไกลตัวผู้เรียนมากที่สุด
เช่น สภาพทางจิตใจและความรู้ทางวิชาการของผู้สอน สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกตัวผู้เรียน
สภาพของห้องเรียน บรรยากาศผู้บริหาร การบริหารงาน บุคลากรในโรงเรียน
สภาพของโรงเรียน สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ผู้ปกครอง บุคคลในชุมชน สภาพทางสังคม
เศรษฐกิจและการเมืองของชุมชน ทรัพยากรในชุมชน นโยบายและแผนการจัดการศึกษาระดับชาติ
การบริหารการศึกษาระดับชาติ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าทางวิชาการ ของโลก เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาการศึกษา (Educational
Philosophy) หมายถึง
ความคิดหรือระบบของความคิดที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง
ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไปอันเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต
ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา การเห็นคุณค่าในความคิดทางการศึกษาใดๆ
ซึ่งผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำการต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความเชื่อนั้นๆ
ทฤษฎีการเรียนรู้
ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning
Theory) หมายถึง ข้อความรู้ที่พรรณนา / อธิบาย /
ทำนาย ปรากฎการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์
ทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้
และสามารถนำไปนิรนัยเป็นหลักหรือกฎการเรียนรู้ย่อยๆ
หรือนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้
ทฤษฎีโดยทั่วไปมักประกอบด้วยหลักการย่อยๆ หลายหลักการ
หลักการเรียนรู้
หลักการเรียนรู้ (Learning
Principle) หมายถึง ข้อความรู้ย่อยๆ ที่พรรณนา อธิบาย
/ ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ
ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้
สามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ หลักการเรียนรู้หลายๆ
หลักการ อาจนำไปสู่การสร้างเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ได้
ทฤษฎีการสอน
ทฤษฎีการสอน (Teaching / Instructional
Theory) คือ ข้อความรู้ที่พรรณนา / อธิบาย / ทำนาย
ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอน ที่ได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ และการยอมรับว่าเชื่อถือได้
ซึ่งนักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาอาจพัฒนาหรือแปลงมาจากทฤษฎีการเรียนรู้
เพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
ทฤษฎีการสอนหนึ่งๆ มักประกอบไปด้วยหลักการสอนย่อยๆ หลายหลักการ
หลักการสอน
หลักการสอน (Teaching
/ Instructional Principle) คือ ข้อความรู้ย่อยๆ
ที่พรรณนา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอน ที่ได้รับการพิสูจน์
ทดสอบและการยอมรับว่าเชื่อถือได้
สามารถนำไปใช้ในการสอนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
หลักการสอนหลายๆ หลักการ อาจนำไปสู่การสร้างเป็นทฤษฎีการสอนได้
แนวคิดทางการสอน
แนวคิดทางการสอน (Teaching
/ Instructional Concept / Approach) คือ
ความคิดเกี่ยวกับการสอนที่พรรณนา / อธิบาย / ทำนายปรากฎการณ์ต่างๆ
ทางการสอนที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษา
ได้นำเสนอและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง
ระบบการสอน
/ ระบบการเรียนการสอน
ระบบการสอน / ระบบการเรียนการสอน (Teaching
/ Instructional System) คือ องค์ประกอบต่างๆ
ของการเรียนการสอนที่ได้รับการจัดให้มีความสัมพันธ์กันและส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
รูปแบบการสอน
/ รูปแบบการเรียนการสอน
ระบบการสอน / รูปแบบการเรียนการสอน (Teaching
/ Instructional Model) คือ
แบบแผนการดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดเป็นระบบ อย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับทฤษฎี /
หลักการเรียนรู้หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือ และได้รับการพิสูจน์
ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของรูปแบบนั้นๆ
โดยทั่วไปแบบแผนการดำเนินการสอนดังกล่าว มักประกอบด้วย ทฤษฎี /
หลักการที่รูปแบบนั้นยึดถือและกระบวนการสอนที่มีลักษณะ เฉพาะอันจะนำ
ผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายเฉพาะที่รูปแบบนั้นกำหนด
ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนหรือแบบอย่างในการจัดและดำเนินการสอนอื่นๆ
ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเช่นเดียวกันได้
วิธีสอน
วิธีสอน คือ
ขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่างๆ
ที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้นๆ
เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย องค์ประกอบสำคัญของการบรรยาย คือ
เนื้อหาสาระที่จะบรรยาย และการบรรยาย และขั้นตอนสำคัญคือ การเตรียมเนื้อหาสาระ
การบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย)
และการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย
ดังนั้นวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ก็คือกระบวนการหรือขั้นตอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
โดยการเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยาย แล้วบรรยาย คือ พูด บอก เล่า อธิบาย
เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ต่อความหมายการสอน
ความหมายของการสอน
การสอน เป็นงานหลักของครู
ซึ่งปัจจุบันถือว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่บุคคลในวิชาชีพนี้
ต้องได้รับการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่
สามารถเลือกศึกษา อบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่
สามารถเลือกวิธีปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะ
และเจตคติ ดังที่ระบุไว้ในจุดประสงค์การสอน
ครูต้องมีการฝึกฝนด้านการสอนอยู่เสมอเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในการทำงานเช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ และต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพ
การที่ครูสามารถปฏิบัติงานการสอนได้ดีขึ้นอยู่กับความสามารถในการผสมผสานศาสตร์ว่าด้วยการสอนกับศิลปะของการสอนเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการสอนสูงสุด
ครูที่มีประสิทธิผล (Effective
Teacher) นอกจากจะมีความรู้ในศาสตร์ของการสอน
และมีศิลปะของการสอนแล้ว ยังต้องมีคุณลักษณะ 4
ประการ ต่อไปนี้
การประยุกต์ทฤษฎีและการวิจัยการสอนไปใช้
การสะสมประสบการณ์การสอน
การคิดวินิจฉัยไตร่ตรองและแก้ปัญหา
การเรียนรู้การสอนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้กับประสบการณ์เข้าด้วยกัน
มีผู้ให้ความหมายคำว่า
"การสอน" ต่างๆ กันไป เช่น
แลงฟอร์ด (Langford 1968 : 114) กล่าวว่า
การสอนคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลคนหนึ่งยอมรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนรู้ของบุคคลอีกคนหนึ่ง
(การสอนจึงเป็นกิจกรรมที่ครูกระทำเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้)
ในหนังสือ Dictionary
of Education (Good 1973 : 304 และ 588) ได้ให้ความหมายของ
การสอนไว้ดังนี้
ความหมายของการสอนในระดับแคบ หมายถึง
วิธีการที่ครูถ่ายทอดความรู้ อบรมนักเรียน ให้มีความรู้ ความคิด
เจตคติและทักษะดังที่จุดประสงค์การศึกษาได้ระบุไว้
ส่วนความหมายของการสอนในระดับกว้าง
หมายถึง การกระทำและการดำเนินการด้านต่างๆ ของครูภายใต้สภาพการณ์การสอนการเรียน
ซึ่งประกอบด้วย
การสร้างสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน
กระบวนการตัดสินใจและวางแผนก่อนสอน
ซึ่งได้แก่ การวางแผนการสอน การจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์
เทคนิคการสอน
เทคนิค คือ กลวิธีต่างๆ
ที่ใช้เสริมกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำใดๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ
ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำนั้นๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น
เทคนิคการสอน จึงหมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการสอน ขั้นตอนการสอน วิธีการสอน
หรือการดำเนินการทางการสอนใดๆ เพื่อช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่น ในการบรรยาย ผู้สอนอาจใช้เทคนิคต่างๆ
ที่สามารถช่วยให้การบรรยายมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกตัวอย่าง
การใช้สื่อ การใช้คำถาม เป็นต้น
ทักษะการสอน
ทักษะการสอน คือ
ความสามารถในการปฏิบัติการสอนด้านต่างๆ
อย่างชำนาญซึ่งครอบคลุมการวางแผนการเรียนการสอน การออกแบบการเรียนการสอน
การจัดการเรียนการสอน การใช้วิธีสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการสอน
สื่อการสอนการประเมินผลการเรียนการสอน รวมทั้งการใช้ทฤษฎีและหลักการเรียนรู้และการสอนต่างๆ
นวัตกรรมการสอน
นวตกรรม คือ สิ่งใหม่ที่ทำขึ้น
ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ดังนั้น
นวัตกรรมการสอนจึงหมายถึงแนวคิด วิธีการ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
ซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือใหม่เพียงบางส่วน
หรืออาจเป็นสิ่งใหม่ในบริบทหนึ่งหรือในช่วงเวลาหนึ่ง
หรืออาจเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทดสอบ
หรือได้รับการยอมรับนำไปใช้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปกติ
การวิจัยด้ายการเรียนการสอน
การวิจัยด้านการเรียนการสอน คือ
การศึกษาหาคำตอบให้แก่ปัญหาหรือคำถามต่างๆ
เกี่ยวกับการเรียนการสอนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือต่อแปรที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอนครอบคลุมตัวแปร
เกี่ยวกับผู้เรียนผู้สอน บริบทของการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอน
และผลผลิตของการเรียนการสอน
0 comments:
Post a Comment