Friday, December 12, 2014

การเปรียบเทียบบุคลิกภาพ

การเปรียบเทียบบุคลิกภาพ
            การวิจัยเปรียบเทียบบุคลิกภาพ ได้แก่ การศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับวิชาชีพหรืออาชีพอื่นๆ เช่น งานของ วัลลี หลีสันติพงศ์ (2515) ที่ศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับนักบัญชี โดยใช้แบบสอบถามองค์ประกอบ 16 ด้านของแคทเทล และแบบทดสอบความเกรงใจ พบว่ามีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่เปรียบเทียบดังนี้ ครูผู้ประสบความสำเร็จอาศัยกลุ่ม (Q2-) สำรวม ไว้ตัว (A-) มากกว่าครูผู้ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งค่อนข้างจะมีความอบอุ่นชอบออกสังคม นักบัญชีผู้ประสบความสำเร็จมีจิตใจกล้าแข็ง มั่นใจในตนเอง (I) สูงกว่านักบัญชีผู้ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีจิตใจอ่อนแอ อ่อนไหว (I+) ครูผู้ประสบความสำเร็จถี่ถ้วน เคร่งขรึม จริงจัง (F) และอาศัยกลุ่ม (Q2-) มากกว่านักบัญชีผู้ประสบความสำเร็จ แต่นักบัญชีผู้ประสบความสำเจปฏิบัติตามความเป็นจริง ทำตามกฎ (M-) และมีจิตใจกล้าแข็ง (I-) มากกว่าครูผู้ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีจิตใจอ่อนแอ (I+) ครูผู้ไม่ประสบความสำเร็จกล้าสังคม กล้าหาญ (H+) มากกว่าปฏิบัติตามความเป็นจริง (M-) น้อยกว่านักบัญชีผู้ไม่ประสบความสำเร็จ บุคลิกภาพด้านอื่นที่เหลือ และความเกรงใจครูผู้ประสบและผู้ไม่ประสบความสำเร็จกับนักบัญชีผู้ประสบและผู้ไม่ประสบความสำเร็จต่างก็มีลักษณะคล้ายคลึงหรือไม่แตกต่างกัน
            สำหรับพรพิมล เพ็งศรัทธา (2515) ศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับนักวิทยาศาสตร์ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ครูที่ไม่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะชอบออกสังคม (A+) มากกว่าครูที่ประสบความสำเร็จ ครูที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะอาศัยกลุ่ม (Q2-) มากกว่าครูที่ไม่ประสบความสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะมีสติปัญญา (B+) มากกว่านักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะมีสติปัญญา (B+) มากกว่านักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ครูที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะมีประสาทมั่นคง (O-) กล้าสังคม (H+) อาศัยกลุ่ม (Q2-) ควบคุมตนเองได้ (Q3+) และซื่อตรงต่อหน้าที่ (G+) มากว่านักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ครูที่ไม่ประสบความสำเร็จค่อนข้างจะชอบออกสังคม (H+) มากกว่านักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ
            ส่วนสุจิตรา เหลืองรังสรรค์ (2516) ศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับนักธุรกิจ พบว่าครูชายเป็นอิสระแก่ตัว จิตใจกล้าแข็ง มากกว่าครูหญิงที่ถ่อมตัว จิตใจอ่อนแอ นักธุรกิจชาย จิตใจกล้าแข็ง มากกว่านักธุรกิจหญิงที่จิตใจอ่อนแอ นักธุรกิจชายมีเหลี่ยม ผ่อนคลาย มากกว่านักธุรกิจหญิง นักธุรกิจชายชอบออกสังคมมากกว่าครูชายที่สำรวม นักธุรกิจชายอารมณ์มั่นคง กล้าสังคม ทำตามความเป็นจริง มีเหลี่ยม อาศัยกลุ่ม มากกว่าครูหญิงที่สำรวม อารมณ์อ่อนไหว ขี้อาย และนักธุรกิจหญิงมีเหลี่ยมมากกว่าครูหญิง นักธุรกิจชอบออกสังคม อารมณ์มั่นคง จิตใจกล้าแข็ง มากกว่าครูที่สำรวม อารมณ์อ่อนไหวจิตใจอ่อนแอ และนักธุรกิจกล้าสังคม ประสาทมั่นคง มีเหลี่ยม อาศัยกลุ่ม ควบคุมตัวเองได้ ผ่อนคลายมากกว่าครู และครูถี่ถ้วนระมัดระวัง มากกว่านักธุรกิจ ครูหญิงมีความเกรงใจมากกว่าครูชาย นักธุรกิจหญิงมีความเกรงใจมากกว่านักธุรกิจชาย
            สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับแพทย์เป็นงานของ อบอวล หกสุวรรณ (2516) ซึ่งพบว่า กลุ่มอาชีพแพทย์มีบุคลิกภาพในด้านทำตามความเป็นจริงมากกว่ากลุ่มอาชีพครู แพทย์ชายมีบุคลิกภาพในด้านทำตามความเป็นจริงมากกว่าครูชาย และครูชายมีบุคลิกภาพในด้านถือตนเป็นใหญ่มากกว่าแพทย์ชาย แพทย์หญิงมีบุคลิกภาพในด้านทำตามความเป็นจริงมากกว่าครูหญิง ครูชายมีบุคลิกภาพในด้านถือตนเป็นใหญ่มากกว่าครูหญิง และครูหญิงมีบุคลิดภาพในด้านจิตใจอ่อนแอมากกว่าครูชาย แพทย์ชายมีบุคลิกภาพในด้านประสาทมั่นคงมากกว่าแพทย์หญิง ครูหญิงมีความเกรงใจมากกว่าครูชาย และแพทย์หญิงมีความเกรงใจมากกว่าแพทย์ชาย
            นอกจากการเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับอาชีพอื่นๆ แล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูด้วยกันเองอีกด้วย เช่น งานของ พจนารถ แดงพลอย (2531) ที่ศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพของครูกับครูแนะแนวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ พบว่าครูที่ประสบความสำเร็จในอาชีพได้คะแนนบุคลิกภาพสูงในองค์ประกอบด้วยสติปัญญา (B+) มโนธรรม (G+) การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Q1+) และได้คะแนนบุคลิกภาพต่ำในองค์ประกอบด้านการกล้าแสดงออก (E-) และความร่าเริง (F-) ครูแนะแนวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพได้คะแนนบุคลิกภาพสูงในองค์ประกอบด้าน สติปัญญา (B+) ความระแวง (L+) และการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (N+) และได้คะแนนบุคลิกภาพต่ำในองค์ประกอบด้านการกล้าแสดงออก (E-) และความร่าเริง (F-) ครูที่ประสบความสำเร็จในอาชีพได้คะแนนบุคลิกภาพในองค์ประกอบด้านมโนธรรม (G+) สูงกว่าครูแนะแนวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนบุคลิกภาพด้านอื่นๆ พบว่า ได้คะแนนบุคลิกภาพไม่แตกต่างกัน
            ขณะเดียวกัน รัฐวุฒิ ก่องขันธ์ (2533) ก็ได้ศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพด้านความต้องการของครูที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกับครูที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ พบว่าครูที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และครูที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ มีบุคลิกภาพด้านความต้องการที่แสดงออกมากเป็นอันดับ 1 , และ 3 ตรงกัน คือ ความอดทน การช่วยเหลือผู้อื่น - น้ำใจ และการสำนึก - ยอมรับโทษ และด้านที่แสดงออกน้อยเป็นอันดับที่ 14 และ 15 ตรงกัน คือ การแสดงตัวและการคบเพื่อนต่างเพศ ครูเพศชายที่สอนที่โรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง มีบุคลิกภาพด้านความต้องการเป็นระเบียบ การสำนึก - ยอมรับโทษ และความอดทนอยู่ในระดับสูง ครูเพศหญิงที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง มีบุคลิกภาพด้านความต้องการสัมฤทธิ์ผลการเป็นระเบียบ และความอดทนอยู่ในระดับสูง ครูเพศชายที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนต่ำ มีบุคลิกภาพด้านความต้องการเป็นระเบียบ การสำนึก - ยอมรับโทษ และความอดทน อยู่ในระดับสูง ครูเพศหญิงที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ มีบุคลิกภาพด้านความต้องการเป็นระเบียบและอดทนอยู่ในระดับสูง บุคลิกภาพด้านความต้องการของครูที่มีเพศต่างกันแตกต่างกัน ในด้านการขอความช่วยเหลือ และการคบเพื่อนต่างเพศ นอกจากนี้ยังพบปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูที่สอนในโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเพศต่างกันต่อบุคลิกภาพด้านความต้องการผูกไมตรีกับผู้อื่น
บุคลิกภาพและสมรรถภาพครูกับองค์ประกอบอื่นๆ
            การวิจัยบุคลิกภาพและสมรรถภาพครูกับองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ การวิจัยที่โยงบุคลิกภาพและสมรรถภาพของครูเข้ากับตัวแปรอื่นๆ ทั้งที่เป็นตัวแปรต้นและตัวแปรตาม กล่าวคือ มีทั้งงานวิจัยที่แสดงเหตุต่างๆ ที่มีต่อผล คือ บุคลิกภาพและสมรรถภาพครู และงานวิจัยที่แสดงผลของบุคลิกภาพและสมรรถภาพของครูต่อสิ่งอื่นเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัมฤทธิผลของนักเรียน รวมทั้งความสัมพันธ์แบบไม่เป็นตัวแปรด้านตัวแปรตาม ตัวอย่างงานวิจัยที่เป็นที่รู้จักกันพอสมควร คือ งานวิจัยของสตีเฟ่น ชินภัทธ์และ โมฮัมเหม็ด (2533) เรื่องตัวแปรที่พยากรณ์สมรรถภาพการสอนของครูและความรู้สึกของนักเรียนเกี่ยวกับคุณภาพการสอนของครู เพราะผลกระทบของตัวแปรทั้งสองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ศึกษาโดยวิธีการสำรวจจากโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 411 โรง ครู 3,868 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 9,768 คน ได้ผลดังนี้
            1. คุณภาพการสอนที่เป็นค่าเฉลี่ยของความรู้สึกของนักเรียนภายในโรงเรียนไม่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระดับนักเรียนที่แสดงความรู้สึกเกี่ยวกับคุณภาพการสอนกลับมีผลกระทบทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน
            2. ตัวแปรเกี่ยวกับครู ได้แก่ ภาคภูมิศาสตร์ และฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพยากร สมรรถภาพของครู กล่าวคือ ครูที่อยู่ในโรงเรียนที่ฐานะดีกว่ามีแนวโน้มสมรรถภาพสูงกว่าครูใน โรงเรียนที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะการนิเทศภายในมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญกับสมรรถภาพของครู
            3. ผลที่น่าประหลาดใจ คือ จำนวนปีของการฝึกหัดครู มีความสัมพันธ์ทางลบกับสมรรถภาพของครู การอบรมครูประจำการไม่กระทบต่อสมรรถภาพครู และความเพียงพอของอุปกรณ์การสอนพยากรณ์สมรรถภาพครูไม่ได้ อย่างไรก็ตามการฝึกหัดครู การอบรมครูประจำและความเพียงพอของอุปกรณ์การสอน การมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญกับคุณภาพการสอนของครู
            4. สมรรถภาพของครู มีสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพการสอนของครู

            5. สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงเรียน ได้แก่ สภาพอาคาร และจำนวนครุภัณฑ์ของโรงเรียน เป็นกลุ่มตัวแปรที่ในตอนแรกมีความสัมพันธ์กับคุณภาพการสอนของครู แต่เมื่อควบคุมตัวแปรที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์หมดไป ซึ่งหมายความว่าตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงเรียน จะส่งผลทางอ้อมไปยังคุณภาพการสอนของครู โดยผ่านการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

0 comments:

Post a Comment